ลักษณะทางพืชศาสตร์
ขิงเป็นพืชล้มลุก มีลักษณะเป็นกอสูงประมาณ 90 เซนติเมตร ก้านใบเป็นกาบหุ้มซ้อนกัน จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับข่า ขมิ้น กระวาน เร่ว มีลำต้นใต้ดิน ซึ่งมีลักษณะคล้ายฝ่ามือ เรียกว่า “เหง้า” เปลือกเหง้ามีสีเหลืองอ่อน เนื้อมีสีเหลืองอมเขียว มีใยอาหารมาก ขิงอ่อนมีสีขาวออกเหลือง มีรสเผ็ดและกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขิงยิ่งแก่ยิ่งมีรสเผ็ดร้อน
สรรพคุณทางยา
• ราก รสหวาน ขม เผ็ดร้อน ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ แก้ลม แก้บิด และช่วยเจริญอาหาร
• เหง้า รสหวาน เผ็ดร้อน ใช้ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ บรรเทาอาการคลื่นไส้
• ต้น รสเผ็ดร้อน แก้จุกเสียด ขับลม แก้ท้องเสียและท้องร่วง
• ใบ รสเผ็ดร้อน แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ และใช้ฆ่าพยาธิได้
• ดอก รสเผ็ดร้อน แก้ขัดปัสสาวะ และช่วยย่อยอาหาร
• ผล มีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำนม แก้คอแห้ง แก้อาการระคายคอ เจ็บคอ แก้ไข้
• แก่น มีสรรพคุณแก้คัน
สารอาหารสำคัญในขิง
ขิงอุดมไปด้วยสารอาหารที่สำคัญหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม ฟอสฟอรัส โปรตีน วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน วิตามินบี 1 บี 2 บี 3 วิตามินซี และมีเส้นใยจำนวนมาก
นอกจากนี้แล้วยิงยังมีน้ำมันหอมระเหยที่มีประโยชน์ น้ำมันหอมระเหยในขิงประกอบด้วยสาระสำคัญต่างๆ ได้แก่ ซิงจิเบอรีน (Zingiberene) ซิงจิเบอรอล (Zingiberol) ไบซาโบลีน (Bisabolene) และแคมฟีน (Camphene) ซึ่งจะมีอยู่ในขิงประมาณมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูกและช่วงการเก็บรักษา นอกจากนี้แล้วยังมีน้ำมันโอลีโอเรซิน (Oleoresin) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำให้ขิงมีกลิ่นฉุนและมีรสเผ็ด